Facebook นับว่าเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่จัดงานแฮคกาธอนภายในองค์กรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พนักงานภายบริษัท ซึ่งไม่ใช่เฉพาะผู้เขียนโค้ดอย่างเดียวเท่านั้น ได้เข้าร่วมเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ ผ่านการใช้ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งหลายๆ ฟีเจอร์ที่เราใช้กันบนเฟซบุ๊ค หรืออินสตาแกรม ก็ล้วนเป็นผลพวงมาจากการจัดงานแฮคกาธอนทั้งสิ้น เช่น ฟีเจอร์ Hyperlapse บนกล่องข้อความ

แต่ถ้าพูดถึง Facebook แค่อย่างเดียว ก็ดูจะหนีไม่พ้นวงการเทคโนโลยีเท่าไรนัก ฉะนั้นเราจะขอเล่าถึงงานแฮคกาธอนที่จัดโดยบริษัทอื่นๆ ด้วย เช่น เมื่อเร็วๆ นี้มีบริษัทผู้ให้บริการทางด้านการเงิน ได้จัดงานแฮคกาธอนขึ้นเพื่อหาแนวทางในการดึงลูกค้ากลุ่มมิลเลนเนี่ยลมาใช้บริการทางด้านธนาคารของตนมากขึ้น โดยการแบ่งผู้เข้าร่วมงานซึ่งเป็นพนักงานของบริษัทออกเป็น 5 กลุ่ม และร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญจาก Standford d.school ในการให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการออกแบบที่มีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง รวมถึงการอบรมการสร้างต้นแบบ (prototype) ในระยะเร่งด่วน
โดยในแต่ละวัน ทุกทีมจะมีโอกาสได้ออกไปพูดคุยกับกลุ่มลูกค้าในชีวิตประจำวัน ซึ่งจากกิจกรรมดังกล่าว ทำให้บริษัทได้ข้อมูลเชิงลึกมาว่าลูกค้ากลุ่มมิลเลนเนี่ยลจะไม่เปลี่ยนธนาคาร หากผลิตภัณฑ์ของธนาคารเป็นที่พึงพอใจ ด้วยเหตุนี้ บริษัทจึงมุ่งเน้นด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์แทน และสร้างเครื่องมือที่ช่วยป้องกันข้อผิดพลาดทางด้านการเงินของวัยมิลเลนเนี่ยล และช่วยให้พวกเขาจัดการด้านการเงินได้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจอีกมากมายหลายด้านที่เริ่มหันมาจัดงานแฮคกาธอนกันมากขึ้น เช่น ธุรกิจด้านอาหาร ที่ร่วมมือกับ EnLab ในการจัดงานแฮคกาธอน FoodTech ในวันนี้ที่ Siam Innovation District

คำแนะนำ หากบริษัทสนใจจัดงานแฮคกาธอน
1. ผลักดันความคิดสร้างสรรค์ ให้พนักงานก้าวออกมาจากบทบาทและทักษะการทำงานเดิมๆ เพื่อพูดคุย แลกเปลี่ยนกับเพื่อนร่วมงานจากฝ่ายอื่นๆ ในการสร้างสรรค์ และพัฒนาแนวทางแก้ไขปัญหา หรือผลิตภัณฑ์เพื่อบริษัท
2. มุ่งเน้นการเข้าถึงลูกค้า เพื่อให้เกิดความเข้าใจลูกค้าอย่างลึกซึ้ง ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. ตั้งคำถามที่ถูกต้อง เพื่อให้เกิดการคิดนอกกรอบ โดยควรเป็นคำถามปลายเปิดที่มีความท้าทาย และไม่ชี้นำแนวทางการแก้ไข้ปัญหา เช่น เราจะช่วยทีมขายให้มีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าที่ดีขึ้นอย่างไร เป็นต้น
4. สร้างต้นแบบ (Prototype) และทดลองทันที เพื่อพัฒนาไอเดียไปสู่การใช้จริง โดยอาศัยฟีดแบ็กจากลูกค้าในการแก้ไข/พัฒนา
5. บ่มเพาะและขยายต้นแบบ เมื่อได้ผลสรุปจากการทดลองแล้ว เราก็ต้องนำผลไปใช้จริง และยกระดับ/ ต่อยอดเพื่อการพัฒนาของบริษัทต่อไป
นอกจากแฮคกาธอนจะช่วยบริษัทในการพัฒนาสินค้าหรือบริการใหม่ๆ แล้ว ยังช่วยบริษัทในการโปรโมตวัฒนธรรมเชิงนวัตกรรมขององค์กร รวมถึงเปลี่ยนแปลงวิถีการทำงานใหม่ๆ ในองค์กรได้อีกด้วย
ที่มา: Harvard Business Review: Hackathons Aren’t Just for Coders
เรียบเรียงโดย: Satawat Keereewan